Gout

โรคเกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันที่พบมากในเวชปฎิบัติ ความชุกแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและพื้นที่หรือประเทศ โดยทั่วไปมีความชุกประมาณร้อยละ 5 – 28 คนจากประชากรเพศชาย 1,000 คน และประมาณ 1- 6 คนจากประชากรเพศหญิง 1,000 คน มีอุบัติการณ์ร้อยละ 1-2 และในช่วง 10ปีที่ผ่านมาพบอัตราของโรคเกาต์เพิ่มขึ้นถึง 2เท่า นอกจากนี้ยังพบเพิ่มขึ้นตามอายุ ช่วงอายุที่บ่อยที่สุดที่ปรากฏอาการของโรคเกาต์ในครั้งแรกคือ ช่วงวัยกลางคนอายุ 40 – 50ปีในเพศชาย และช่วงอายุหลังหมดประจำเดือนคืออายุ 60 ปีขึ้นไปในเพศหญิง
สาเหตุของโรคเกาต์ เกิดจากร่างกายมีกรดยูริคในเลือดสูงกว่าปกติ(hyperuricemia) ทั้งนี้กรดยูริกในร่างกายเป็นสารที่เป็นผลิตผลปลายทางจากการสลายตัวของสารพูรีน(Purine) สารพูรีนนี้ได้มาจากการที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองและบางส่วนมาจากการสลายตัวของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย นอกจากนี้บางส่วนของสารพูรีนยังได้มาจากอาหารที่เราประทานเข้าไปในแต่ละวันอีกด้วย
ในภาวะปกติ การสร้างและการขับออกของกรดยูริกในร่างกายจะอยู่ในภาวะสมดุล แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีกรดยูริคในเลือดสูงกว่าปกติ พบว่า ร้อยละ 10-15%ร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากขึ้นกว่าปกติ และ/หรือ ร้อยละ 85-90 ไตมีความบกพร่องในการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย กล่าวคือการขับออกของกรดยูริคได้น้อย นับเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง การคั่งของกรดยูริกในเลือดเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดการสะสมและการตกผลึกของเกลือยูริกในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย ผลึกเกลือยูเรตที่สะสมอยู่ในข้อจะทำให้เกิดอาการข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน เป็นๆ หายๆ ทีละ 1-2 ข้อ ส่วนใหญ่พบที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อหลังเท้า ข้อเท้า และข้อเข่า ในระยะเรื้อรังจะพบก้อนโทฟัสซึ่งเป็นก้อนของผลึกเกลือยูเรตที่ผิวหนังบริเวณรอบๆ ข้อและขอบใบหูได้ นอกจากนั้นผลึกเกลือของยูเรตยังอาจสะสมในเนื้อไตและทางเดินปัสสาวะส่งผลทำให้การทำงานของไตบกพร่องและเกิดนิ่วในไตตามมาได้ การรักษาเพื่อลดระดับกรดยูริกในเลือดจึงเป็นการรักษาโรคเกาต์ในระยะยาว และมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากกรดยูริกสูงในเลือด ได้แก่ ข้ออักเสบ ก้อนโทฟาย โรคไตและนิ่วในไต
นอกเหนือจากการทำงานของไตที่บกพร่องจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงแล้ว โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองก็เป็นภาวะที่กำลังเป็นที่สนใจว่าอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งในปัจจุบันมีข้อมูลมากมายที่บ่งชี้ว่าภาวะกรดยูริกในเลือดสูงในเลือดก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระอย่างหนึ่งต่อภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง ซึ่งสามารถนำไปสู่การเกิดโรคดังกล่าวข้างต้นตามมาได้

อ่านเพิ่มเติม