กรดไหลย้อน คืออะไร?
ภาวะกรดไหลย้อน คือ ภาวะที่เกิดจากการ ไหลย้อนของสารคัดหลั่งในกระเพาะอาหาร ไม่ว่าจะเป็น กรด น้ำย่อย หรือ แก๊ส ย้อนเข้าสู่หลอดอาหาร จนรบกวนการใช้ชีวิต โดยอาการดังกล่าวมีได้ทั้งในและนอกหลอดอาหารดังนี้
อาการของหลอดอาหาร
- แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก
- ความรู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ
- มีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ
อาการของหลอดอาหาร
- เจ็บคอ หรือเสียงแหบเรื้อรัง
- อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
- ไอเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
- อาการทางช่องปาก เช่น ฟันผุ มีกลิ่นปาก
- โรคหืดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
**อาการนอกหลอดอาหารดังกล่าวควรได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆก่อน แล้วไม่พบสาเหตุจึงอาจสรุปว่าเกิดจากโรคกรดไหลย้อน**
เมื่อไรจึงควรสงสัยว่าตัวเองเป็นกรดไหลย้อน วินิจฉัยอย่างไร ต้องส่องกล้องหรือไม่?
การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน ใช้อาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยผู้ที่มีอาการทางหลอดอาหารเข้าได้กับภาวะกรดไหลย้อน สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการส่องกล้อง ยกเว้น ในกรณีที่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น หยุดยาไม่ได้ หรือมี “อาการเตือน” อันได้แก่
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- อาการของเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด
- อาเจียนหรือ ปวดท้องอย่างรุนแรง
- มีอาการกลืนติด กลืนเจ็บ ร่วมด้วย
โรคกรดไหลย้อนรักษาอย่างไร?
การรักษาโรคกรดไหลย้อน แบ่งการรักษาหลักๆ เป็นดังนี้
- การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่อ้วน งดสูบบุหรี่ การงดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภทที่กระตุ้นอาการโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ให้นอนศีรษะสูง หรือการนอนตะแคงซ้าย ในผู้ที่มีอาการตอนกลางคืนเป็นต้น
- การรักษาด้วยการใช้ยา มียาหลักๆอยู่ 2 กลุ่มได้แก่
- ยาลดการหลั่งกรด ได้แก่ ยากลุ่ม proton pump inhibitor (PPI) และกลุ่ม H2 receptor antagonist (H2RA) ถือเป็นยามาตรฐาน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเกิดขึ้นบ่อยๆหรือมีอาการเป็นประจำ
- ยาที่ใช้ระงับอาการ เช่น alum milk หรือยากลุ่ม alginate เช่น Alginic acid สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวได้ หรือใช้เป็นยาเสริมกรณีที่ใช้ยากลุ่มแรกแล้วยังมีอาการอยู่ เนื่องจากออกฤทธิเร็ว ระงับอาการได้ทันที
- การรักษาด้วยการส่องกล้องหรือการผ่าตัด ใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
**การรักษาในปัจจุบันใช้ควบคู่กันทั้งการรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกับการรับประทานยาลดกรด**
**รายละเอียดเรื่องยาและการรักษา โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร**
โรคกรดไหลย้อนสามารถกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
มีโอกาสแต่น้อยมากโดยเฉพาะคนไทยและชาวเอเชีย มีการอักเสบของหลอดอาหารที่ไม่รุนแรงนัก ซึ่งหากระดับความรุนแรงของการอักเสบของหลอดอาหารยิ่งมาก จะมีโอกาสเกิดความผิดปกติของเยื่อบุหลอดอาหาร ที่เรียกว่า intestinal metaplasia (ซึ่งดูได้โดยการตัดชิ้นเนื้อและดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ) เป็นภาวะที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ ในประชากรไทย พบได้น้อยกว่า 1% ในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ทำให้โอกาสเกิดมะเร็งหลอดอาหารจากการเป็นโรคกรดไหลย้อนเกิดได้น้อยมาก