Gastro-Esophageal Reflux Disease (GERD)

กรดไหลย้อน คืออะไร?

ภาวะกรดไหลย้อน คือ ภาวะที่เกิดจากการ ไหลย้อนของสารคัดหลั่งในกระเพาะอาหาร ไม่ว่าจะเป็น กรด น้ำย่อย หรือ แก๊ส ย้อนเข้าสู่หลอดอาหาร จนรบกวนการใช้ชีวิต โดยอาการดังกล่าวมีได้ทั้งในและนอกหลอดอาหารดังนี้
อาการของหลอดอาหาร
  1. แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก
  2. ความรู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ
  3. มีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ

อาการของหลอดอาหาร
  1. เจ็บคอ หรือเสียงแหบเรื้อรัง
  2. อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
  3. ไอเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
  4. อาการทางช่องปาก เช่น ฟันผุ มีกลิ่นปาก
  5. โรคหืดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา

**อาการนอกหลอดอาหารดังกล่าวควรได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆก่อน แล้วไม่พบสาเหตุจึงอาจสรุปว่าเกิดจากโรคกรดไหลย้อน**


เมื่อไรจึงควรสงสัยว่าตัวเองเป็นกรดไหลย้อน วินิจฉัยอย่างไร ต้องส่องกล้องหรือไม่?

การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน ใช้อาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยผู้ที่มีอาการทางหลอดอาหารเข้าได้กับภาวะกรดไหลย้อน สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการส่องกล้อง ยกเว้น ในกรณีที่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น หยุดยาไม่ได้ หรือมี “อาการเตือน” อันได้แก่
  1. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  2. อาการของเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด
  3. อาเจียนหรือ ปวดท้องอย่างรุนแรง
  4. มีอาการกลืนติด กลืนเจ็บ ร่วมด้วย

โรคกรดไหลย้อนรักษาอย่างไร?

การรักษาโรคกรดไหลย้อน แบ่งการรักษาหลักๆ เป็นดังนี้
  1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่อ้วน งดสูบบุหรี่ การงดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภทที่กระตุ้นอาการโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ให้นอนศีรษะสูง หรือการนอนตะแคงซ้าย ในผู้ที่มีอาการตอนกลางคืนเป็นต้น
  2. การรักษาด้วยการใช้ยา มียาหลักๆอยู่ 2 กลุ่มได้แก่
    • ยาลดการหลั่งกรด ได้แก่ ยากลุ่ม proton pump inhibitor (PPI) และกลุ่ม H2 receptor antagonist (H2RA) ถือเป็นยามาตรฐาน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเกิดขึ้นบ่อยๆหรือมีอาการเป็นประจำ
    • ยาที่ใช้ระงับอาการ เช่น alum milk หรือยากลุ่ม alginate เช่น Alginic acid สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวได้ หรือใช้เป็นยาเสริมกรณีที่ใช้ยากลุ่มแรกแล้วยังมีอาการอยู่ เนื่องจากออกฤทธิเร็ว ระงับอาการได้ทันที
  3. การรักษาด้วยการส่องกล้องหรือการผ่าตัด ใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา

**การรักษาในปัจจุบันใช้ควบคู่กันทั้งการรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกับการรับประทานยาลดกรด**

**รายละเอียดเรื่องยาและการรักษา โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร**


โรคกรดไหลย้อนสามารถกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?

มีโอกาสแต่น้อยมากโดยเฉพาะคนไทยและชาวเอเชีย มีการอักเสบของหลอดอาหารที่ไม่รุนแรงนัก ซึ่งหากระดับความรุนแรงของการอักเสบของหลอดอาหารยิ่งมาก จะมีโอกาสเกิดความผิดปกติของเยื่อบุหลอดอาหาร ที่เรียกว่า intestinal metaplasia (ซึ่งดูได้โดยการตัดชิ้นเนื้อและดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ) เป็นภาวะที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ ในประชากรไทย พบได้น้อยกว่า 1% ในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ทำให้โอกาสเกิดมะเร็งหลอดอาหารจากการเป็นโรคกรดไหลย้อนเกิดได้น้อยมาก

อ่านเพิ่มเติม